Last updated: 7 ก.ค. 2566 | 90 จำนวนผู้เข้าชม |
เวลาเราจ้างช่างมาทำงานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานต่อเติม ก่อสร้าง ซ่อมแซม เรามักจะเห็นสารพัดเครื่องมือจากกระเป๋านายช่างที่เราไม่รู้จักมากมาย ขนกันมาเต็มกระเป๋า สลับสับเปลี่ยนใช้งานอย่างคล่องแคล่ว ดูทะมัดทะแมง น่าทดลองใช้งาน แต่อาจติดอยู่ที่เราไม่รู้ ว่าเครื่องมือเหล่านี้คืออะไร ใช้งานอย่างไร และใช้งานเพื่ออะไร สำหรับบทความนี้ พี่ไทขอนำเสนอเรื่องราวของเครื่องมือวัดสำหรับช่าง ที่มีติดไว้ ได้ใช้แน่นอนครับ
1. ตลับเมตร
เริ่มต้นกันที่อุปกรณ์ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีอย่างตลับเมตร เครื่องมือวัดขนาดกระทัดรัด สามารถพกพาไปได้ทุกที่ ใช้สำหรับวัดขนาดชิ้นงาน หรือวัดขนาดพื้นที่ เช่น วัดขนาดเฟอร์นิเจอร์ วัดขนาดพื้นที่ที่จะนำเฟอร์นิเจอร์ไปวาง ตลับเมตรจะมีลักษณะเป็นตลับวงกลมหรือสี่เหลี่ยมที่บรรจุสายวัดไว้ด้านใน ปลายสายวัดจะมีตะขอยื่นออกมาไว้ใช้เกี่ยววัตถุ ช่วยให้สะดวกต่อการใช้งาน สเกลบนสายวัดมีความหลากหลาย วัดได้ทั้งในรูปแบบ มิลลิเมตร เซนติเมตร เมตร นิ้ว ฟุต มีความยาวให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 2 เมตร เป็นต้นไป
2. เทปวัดระยะ
เครื่องมือวัดอย่างตลับเมตรอาจใช้งานลำบากเมื่อถูกใช้งานบนที่ราบ เครื่องมืออย่างเทปวัดระยะจึงถูกนำมาสลับสับเปลี่ยนให้เกิดการใช้งานที่สะสวกสบายขึ้น เทปวัดระยะทำหน้าที่เหมือนกับตลับเมตรแต่มีความยืดหยุ่นกว่า และวัดได้ยาวกว่า สำหรับวัดระยะทางของพื้นที่ เมื่อมีการสำรวจพื้นที่ หรือเก็บข้อมูล เพื่อทำการก่อสร้าง ปรับปรุงพื้นที่นั้น ๆ รูปแบบการใช้งานเหมือนกับตลับเมตรแทบทั้งหมด รวมไปถึงการวัด ก็วัดได้ทั้งในรูปแบบ มิลลิเมตร เซนติเมตร เมตร นิ้ว ฟุต เช่นเดียวกัน
3. เลเซอร์วัดระยะ
ระบบอนาล็อคอย่าง ตลับเมตร และเทปวัดระยะ อาจไม่ทันใจวัยรุ่น จึงเป็นที่มาของเครื่องมืออย่างเลเซอร์วัดระยะ ที่ใช้การวัดระยะด้วยการปล่อยแสงเลเซอร์ไปยังเป้าหมาย เช่น ผนังบ้าน จากนั้นแสงเลเซอร์จะสะท้อนออกจากเป้าหมาย และกลับไปที่เครื่องวัด แล้วคำนวนออกมาเป็นตัวเลขหน่วยต่าง ๆ ปรากฏที่เครื่องเลเซอร์วัดระยะตามที่เราได้ตั้งค่าไว้ ซึ่งแน่นอนว่าความสะดวกสบายเหล่านี้ก็แลกมากับราคาที่สูงกว่า ตลับเมตร และเทปวัดระยะนั่นเอง
4. ไม้บรรทัดเหล็กฉาก
ไม้บรรทัดเหล็กฉาก หรือที่ช่างเรียกกันอย่างติดปากว่าเหล็กฉากเป็นอุปกรณ์ช่างประเภทมือจับ ใช้เพื่อวัดขนาดการสร้างมุมฉาก มีส่วนประกอบ 2 ส่วนคือ ใบฉาก และด้ามฉาก โดยทั้ง 2 ส่วนยึดติดกันเป็นมุม 90 องศา เหล็กฉากโดยส่วนมากแล้วมีความยาวตั้งแต่ 6 นิ้วเป็นต้นไป มีมาตราส่วนในรูปแบบเซนติเมตร และนิ้ว
5. ระดับน้ำ
อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการวัดระดับความเอียงในแนวราบ และแนวดิ่ง มีลักษณะคล้ายไม้บรรทัดขนาดใหญ่ ภายในระดับน้ำมีของเหลวบรรจุอยู่ในหลอดแก้ว ภายในหลอดแก้วมีฟองอากาศ ถ้าอยากทราบว่าพื้นที่ตรงนี้ เอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือไม่ ให้ใช้ระดับน้ำวางนาบลงกับพื้น แล้วสังเกตฟองอากาศภายในของเหลวที่บรรจุอยู่ในหลอดแก้ว ถ้าอยู่ตรงจุดกึ่งกลางแสดงว่าพื้นที่ตรงนี้ตรง ไม่เอียงแต่อย่างใด
6. ลูกดิ่ง
เครื่องมือสำหรับการหาแนวดิ่งที่ตั้งฉากกับพื้นโลก เพื่อใช้เป็นเส้นอ้างอิงในการวัดระยะระหว่างการก่อสร้าง ตัวลูกดิ่งมีลักษณะคล้ายลูกข่าง ทรงกรวย ปลายแหลม ทำด้วยเหล็ก ดีบุก หรือทองเหลือง มีน้ำหนักพอสมควร ส่วนปลายอีกด้านจะมีเกลียวไว้สำหรับผูกเส้นเอ็น สามาถใช้งานได้ด้วยการปล่อยให้ลูกดิ่งห้อยอย่างอิสระจนนิ่งอยู่กับที่ จนตั้งฉากกับจุดอ้างอิงบนพื้น ที่เรียกกันในภาษาช่างว่า ได้ดิ่ง นั่นเอง
7 ก.ค. 2566
11 ก.ค. 2566
11 ก.ค. 2566
11 ก.ค. 2566