เรื่องความปลอดภัยในที่สถานที่ทำงานเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย เพราะเกี่ยวเนื่องกับชีวิตจึงต้องระมัดระวัง
โดยมีข้อกำหนดตาม พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่บัญญัติไว้ว่า ‘เจ้าของโรงงานหรือนายจ้างต้องรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยด้านการปฏิบัติงาน โดยต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยทุกประเภทให้ครบถ้วนและพอเพียง’ ซึ่งถ้าละเลยจะมีโทษทั้งในทางแพ่งและอาญา
อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE หรือ Personal Protective Equipment)
หลาย ๆ ท่านอาจรู้จักกับคำว่า PPE หรือ ความหมายจริง ๆ คือ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ที่มีตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับ พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ ที่ต้องมีในสถานที่ทำงานนั้นเอง มีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน
8 อุปกรณ์เซฟตี้ ที่ควรมีคู่อุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัย ได้แก่
- อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ
หมวกนิรภัย ใช้สำหรับป้องกันศีรษะ จากการกระแทก การเจาะทะลุจากของแข็ง ซึ่งส่วนมากหมวกนิรภัยเหล่านี้ทำมากจาก พลาสติกขนาดแข็ง หรือไฟเบอร์กลาส์ (ใยแก้ว) ที่สามารถป้องกันกระแสไฟฟ้าได้ นิยมใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในส่วนงานบนที่สูง งานดับเพลิง เป็นต้น - อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา
แว่นตานิรภัย ครอบตานิรภัย ใช้สำหรับ ป้องกันดวงตาและใบหน้า ซึ่งมีหลายแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน แว่นตานิรภัยส่วนใหญ่จะเป็นแว่นลักษณะใส่ครอบตา มีทั้งแบบทำจากพลาสติก สำหรับป้องกันการกระแทกหรือเศษวัสดุ เหมาะกับงานเจียระไน งานไม้ งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ฯลฯ แต่หากเป็นโรงงานที่ตัดหรือเชื่อมโลหะ ควรใช้เป็นหน้ากากเชื่อม (Welding Helmets) โดยเฉพาะ จะสามารถป้องกัน แสง รังสี และความร้อนได้ดีกว่า
- อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ
หน้ากากกรองอากาศชนิดต่าง ๆ ใช้เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ในพื้นที่การทำงานที่มีฝุ่นละอองมากกว่าปกติ หน้ากากใช้สำหรับป้องกัน ไม่ให้สารอันตรายหรือ สารพิษที่ปนเปื้อนในอากาศเข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ เช่น งานตัดเย็บเสื้อผ้า งานก่อสร้าง เป็นต้น
- อุปกรณ์ป้องกันมือ
ถุงมือนิรภัย ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมือ จากสารเคมี วัตถุมีคม ไฟฟ้าสถิต สิ่งสกปรกต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนมากวัสดุที่นำมาผลิต จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ชนิดของงาน และแบ่งไปได้แต่ละประเภทของงานได้ดังนี้
• ถุงมือใยหิน สำหรับป้องกันความร้อนหรือไฟ
• ถุงมือใยโลหะ สำหรับงานที่ต้องหั่น ตัด หรือจับของมีคม
• ถุงมือยาง สำหรับงานไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง ต้องสวมถุงมือหนังทับอีก 1 ชั้น
• ถุงมือยางไวนิล/ ถุงมือยางนีโอพรีน สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
• ถุงมือหนัง สำหรับงานไม้ งานโลหะ งานขัดผิว แกะสลัก หรืองานเชื่อมที่ไม่ได้ใช้ความร้อนสูง
• ถุงมือหนังเสริมใยเหล็ก สำหรับงานหลอมหรือถลุงโลหะ
• ถุงมือผ้า สำหรับงานทั่วไป ใช้เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือของมีคมอย่างมีด
• ถุงมือผ้าแบบเคลือบน้ำยา สำหรับงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีเล็กน้อย เช่น งานบรรจุกระป๋อง หรืองานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เช่น งานที่ต้องปกกันของมีคม จะใช้วัสดุทำมาจากใยผ้าวัสดุพิเศษ หรือมีส่วนผสมของเส้นใยสเตนเลส ทำให้มีความทนทานต่อการบาดเฉือนได้เป็นอย่างดี
- อุปกรณ์ป้องกันขาและเท้า
รองเท้านิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทก ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับนิ้วเท้า เท้า และข้อเท้า มีหลายชนิด เลือกใช้ตามความเหมาะสมของงาน ใช้สำหรับป้องกัน อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระแทก ทับ หรือหนีบโดยวัตถุแข็ง การหกใส่ของสารเคมี การสัมผัสกับกระแสไฟฟ้า เช่น รองเท้าบู๊ทนิรภัยหัวเหล็ก รองเท้ายาง รองเท้าพลาสติก เป็นต้น
- อุปกรณ์ป้องกันลำตัว
ชุดป้องกันสารเคมี ชุดป้องกันความร้อน แผ่นคาดลำตัว หรือเอี๊ยม ใช้สำหรับป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นกับลำตัวจากการกระเด็นของสารเคมีอันตราย โลหะหลอมเหลว การสัมผัสอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด รวมถึงไฟไหม้ การกระแทกกับวัตถุแข็งต่าง ๆ
- อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง
ที่อุดหูลดเสียง (Ear Plugs) ที่ครอบหูลดเสียง (Ear Muffs) ใช้สำหรับลดระดับเสียง ดังจากสภาพแวดล้อมการทำ งานให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ก่อนเข้าสู่ระบบการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกัน การสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน
- อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง
เข็มขัดนิรภัย (Safety Belt) สายรัดตัวนิรภัย (Safety Harness) เชือกนิรภัย (Lanyards) สายช่วยชีวิต (Lifelines) ใช้สำหรับป้องกัน ไม่ให้คนทำงานในที่สูงตกลงสู่เบื้องล่าง เข็มขัดนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ควรเป็นลักษณะของสายรัดลำตัว คาดยาวตั้งแต่หัวไหล่ หน้าอก เอว และช่วงขา เพื่อเอาไว้ช่วยพยุงตัว หากต้องทำงานบนที่สูงและโล่ง ไม่มีจุดให้ยึดเกาะ